การจัดการความรู้ (Knowledge Management)  

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับนโยบายจากมหาวิทยาลัยในการดำเนินการด้านการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ของส่วนงาน/หน่วยงานเพื่อให้มีการกำกับติดตาม ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยมีการดำเนินการจัดการความรู้ตามระบบ เพื่อเป็นองค์ความรู้ต่อยอดการเรียนรู้นำไปใช้ประโยชน์ และบุคลากรในส่วนงาน/หน่วยงานสามารถเข้าถึงความรู้พัฒนาตนเองเป็นผู้รู้และประยุกต์ความรู้ที่ได้ใช้ในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยกรอบการดำเนินงานการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในส่วนของสายสนับสนุนวิชาการ จะต้องดำเนินการจัดการความรู้เพื่อให้ประโยชน์เกิดกับงาน โดยนำพันธกิจมาจัดการความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และผลผลิตของการจัดการความรู้ควรเป็นคู่มือการปฏิบัติงาน (Work Manual) เพื่อให้การทำงานและการบริการมีมาตรฐานและก่อให้เกิดคุณภาพในงานที่ทำ

          ทั้งนี้การดำเนินงานในระดับหน่วยงานสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศได้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติในการจัดทำการจัดการความรู้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่

  1. การกำหนดประเด็นความรู้
  2. การกำหนดบุคลากรกลุ่มเป้าหมาย
  3. การแบ่งปันเรียนรู้ ทักษะของผู้มีประสบการณ์ตรง
  4. จัดเก็บอย่างเป็นระบบโดยเผยแพร่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร
  5. การนำแนวปฏิบัติที่ดีมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานจริง

การดำเนินงานจัดการความรู้ดังกล่าวยังสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์จากการปฏิบัติงานจริง

นโยบายการดำเนินงานด้านการจัดการความรู้ของสำนักวิทยบริการฯ

  1. ประเด็นความรู้ที่กำหนดควรนำมาจากการปฏิบัติงานจริงเพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานและสอดคล้องกับการดำเนินงานตามแผนต่างๆ ของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
  2. ควรมีการเผยแพร่องค์ความรู้ไปสู่บุคลากรด้านห้องสมุด และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศประจำวิทยาเขต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง และบัณฑิตวิทยาลัย เพื่อสามารถแนะนำการใช้งานได้ในรูปแบบเดียวกัน

ตัวชี้วัดแผนการจัดการความรู้

  1. บุคลากรของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าร่วมกิจกรรมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
  2. ดำเนินการตามประเด็นความรู้ที่กำหนดได้ครบทุกประเด็น

การติดตามและประเมินผล

คณะกรรมการจัดการความรู้สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ กำหนดให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้านการจัดการความรู้ รอบ 9 เดือน และ 12 เดือน โดยรายงานการดำเนินงานเมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาของแผนการจัดการความรู้ตามปีงบประมาณ หรือปีการศึกษา ดังนี้

  • รายงานผลความสำเร็จตามตัวชี้วัดความสำเร็จการจัดการความรู้
  • รายงานผลการจัดกิจกรรมตามแผนการจัดการความรู้
  • รายงานผลิต (Output) ตามประเด็นการจัดการความรู้เป็นลายลักษณ์อักษร