ประวัติความเป็นมาของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ

ประวัติสำนักวิทยบริการ

สำนักวิทยบริการฯ พัฒนามาจากหอสมุดวิทยาลัยครูสวนดุสิต ซึ่งมีรูปแบบของห้องสมุดมาตั้งแต่ปี 2477 โดยจัดหนังสือไว้เป็นมุมหนึ่งของห้องพักครู

  • พ.ศ. 2501

    พ.ศ. 2501 ได้ขยายพื้นที่เป็น 1 ห้องเรียน

  • พ.ศ. 2506

    พ.ศ. 2506 เริ่มมีการจัดหมวดหมู่หนังสือ โดยใช้ระบบ D.C. (Dewey Decimal Classification)

  • พ.ศ. 2522

    พ.ศ. 2522 ย้ายมาอยู่อาคารหอสมุดในปัจจุบัน

  • พ.ศ. 2538

    พ.ศ. 2538 สำนักวิทยบริการฯ ได้เพิ่มภาระหน้าที่จากงานบริการด้านเอกสารตำรามาเป็น แหล่งบริการสารสนเทศหลายประเภท รวมทั้งให้บริการทางด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา การบริหารงานแบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายคือ
    1.สำนักงานเลขานุการ
    2.ฝ่ายหอสมุด
    3.ฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา

  • พ.ศ. 2539

    พ.ศ. 2539 สำนักวิทยบริการเปลี่ยนการจัดหมวดหมู่หนังสือระบบ D.C. มาเป็น L.C. (Library of Congress Classification) และนำระบบห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS (Virginia Tech Library System) มาใช้ในการดำเนินงานห้องสมุด พร้อมทั้งเปิดบริการสืบค้น บัตรรายการออนไลน์ OPAC (Online Public Access Catalog)

  • พ.ศ. 2543

    พ.ศ. 2543 ให้บริการห้องสมุดเสมือน (Virtual Library) ณ อาคารใหม่ ซึ่งต่อเชื่อมกับอาคารเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการของสำนักวิทยบริการ ซึ่งมีจำนวนมาหลากหลายสาขาวิชา ทั้งในสถาบันราชภัฏสวนดุสิต และศูนย์การศึกษานอกสถาบัน รวมทั้งการใช้บริการจากทางบ้าน ผ่านเครือข่าย Internet โดยไม่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรสารสนเทศ และฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษาเปลี่ยนชื่อเป็นฝ่ายผลิตและพัฒนามัลติมีเดีย

ประวัติศูนย์คอมพิวเตอร์

ศูนย์คอมพิวเตอร์ วิทยาลัยครูสวนดุสิต เริ่มก่อตั้งปี พ.ศ. 2531 ตั้งอยู่ที่ตึก 1 เพื่อเป็นหน่วยงานที่ให้บริการด้านข้อมูลสารสนเทศกับอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ศูนย์คอมพิวเตอร์ เริ่มมีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 1 ห้อง มีเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นแรกเป็นเครื่อง IBM รุ่น 8086 จอ Monochrome 20 เครื่อง และต้อง Boot เครื่องด้วยระบบปฏิบัติการ DOS ซึ่งใช้กับแผ่น Diskette 5 นิ้ว มีอาจารย์สุนทร จริงจิตร เป็นหัวหน้าศูนย์ อาจารย์อุทัยวรรณ จริงจิตรและอาจารย์จิตติมา เทียมบุญประเสริฐช่วยดำเนินการในศูนย์คอมพิวเตอร์โดยเปิดให้บริการอบรมคอมพิวเตอร์ให้กับนักศึกษา และบุคคลภายนอก ต่อมาได้เพิ่มห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ อีก 2 ห้อง เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่น 80286 และได้เปลี่ยนเครื่องเป็น 80386 , 80486 และ Pentium ตามลำดับ

  • พ.ศ. 2535

    พ.ศ. 2535 วิทยาลัยครูสวนดุสิต ได้เริ่มเปิดภาควิชาคอมพิวเตอร์ ในระดับปริญญาตรีทั้งภาคปกติ 1 ห้องเรียน และภาคสมทบ มีหัวหน้าภาควิชา คือ อาจารย์สุนทร จริงจิตร อาจารย์ประจำในภาควิชาคอมพิวเตอร์ ได้แก่ อาจารย์จิตติมา เทียมบุญประเสริฐ อาจารย์วิชชา ฉิมพลี อาจารย์ประโกย ลลิตมงคล อาจารย์นิตณา วิเศษชัยนุสรณ์ และอาจารย์อุทัยวรรณ ตรีจิตรวัฒนากูร โดยอาจารย์ประจำภาควิขาและอาจารย์ศูนย์คอมพิวเตอร์เป็นอาจารย์ชุดเดียวกัน ส่วนหัวหน้าศูนย์คอมพิวเตอร์คือ ดร.อุไรวรรณ แย้มแสงสังข์

  • พ.ศ. 2537

    พ.ศ. 2537 ภาควิชาคอมพิวเตอร์ได้รับนักศึกษาภาคปกติเพิ่มขึ้นเป็น 2 ห้องเรียน มีอาจารย์เพิ่มขึ้น คือ อาจารย์สุรัตน์ ศรีน้อย

  • พ.ศ. 2538

    พ.ศ. 2538 เปลี่ยนชื่อวิทยาลัยครูสวนดุสิต เป็นสถาบันราชภัฏสวนดุสิต

  • พ.ศ. 2539

    พ.ศ. 2539 ย้ายศูนย์คอมพิวเตอร์ และภาควิชาคอมพิวเตอร์มาอยู่ตึก 11 และเปลี่ยนชื่อ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ เป็นโปรแกรมวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มีอาจารย์เพิ่มขึ้น คือ อาจารย์เอื้ออารี ทองแก้ว และดร.อนันต์ เกิดดำ มีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นเป็น 5 ห้อง โดยมีเครื่อง Macintosh 1 ห้อง

  • พ.ศ. 2540

    พ.ศ. 2540 จำนวนนักศึกษาโปรแกรมวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น มีอาจารย์เพิ่มขึ้น คือ อาจารย์ภิรดี วัชรสินธุ์ สถาบันราชภัฏสวนดุสิตมีศูนย์การศึกษาเพิ่ม มีนักศึกษาจำนวนมากขึ้น จึงมีการนำระบบการสอนทางไกล วีดีโอคอนเฟอร์เรนส์ (Video-Conference) มาใช้กับการเรียนการสอนในวิชาพื้นฐาน โดยศูนย์คอมพิวเตอร์รับผิดชอบดูแลระบบ

  • พ.ศ. 2541

    พ.ศ. 2541 ศูนย์คอมพิวเตอร์มีอาจารย์มาช่วยเพิ่มขึ้นคือ อาจารย์ธีระพันธ์ นาฮิม และอาจารย์ยุทธภูมิ ภู่ไพบูลย์

  • พ.ศ. 2542

    พ.ศ. 2542 มีการออกแบบและติดตั้งระบบเครือข่ายที่เป็นมาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญ มีการปรับปรุงระบบเครือข่ายของมหาวิทยาลัยทั้งหมด ให้อยู่ในรูปแบบ Campus Network โดยใช้ห้อง IT Control เป็น Gateway และสร้างห้อง Data Center เพื่อใช้เป็นศูนย์ข้อมูลระบบบริหารการศึกษาของสถาบัน

  • พ.ศ. 2543

    พ.ศ. 2543 เปิดให้บริการห้องสมุดเสมือน (Virtual Library) โดยศูนย์คอมพิวเตอร์ร่วมกับสำนักวิทยบริการรับผิดชอบ ซึ่งห้องสมุดเสมือน ได้ถูกพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย โดยดร.ชัยชนะ โพธิวาระเป็นผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ

  • พ.ศ. 2545

    พ.ศ. 2545 โปรแกรมวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้แยกออกจากศูนย์คอมพิวเตอร์ไปตั้งอยู่ที่ศูนย์พาณิชยการสยาม โดยดร.อนันต์ เกิดดำเป็นผู้อำนวยการศูนย์

เมื่อมีนโยบายการรวมหน่วยงานเข้ากันระหว่างสำนักวิทยบริการฯ และศูนย์คอมพิวเตอร์ เข้าด้วยกันการบริหารงานจึงเป็นแบบภาพรวม และใช้ชื่อว่า “สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ”

  • พ.ศ. 2546

    พ.ศ. 2546 สถาบันราชภัฏสวนดุสิต ได้เปลี่ยนโครงสร้างใหม่ โดยรวมสำนักวิทยบริการและศูนย์คอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน และเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมี ดร.ชัยชนะ โพธิวาระ เป็นผู้อำนวยการสำนัก และสำนักวิทยบริการฯ ได้เริ่มติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สาย (Wireless Lan) เพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น

  • พ.ศ. 2547

    พ.ศ. 2547 สถาบันราชภัฏสวนดุสิตได้ปรับเปลี่ยนสถานภาพจาก “สถาบัน” เป็นมหาวิทยาลัย มีชื่อว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และในปีนี้สำนักวิทยบริการฯ ได้เริ่มจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติร่วมกับบริษัทบุ๊ค โปรโมชั่นชื่อว่า “Online Information and Education Conference 2004” เพื่อนำเสนอแนวคิดและพัฒนาห้องสมุดสมัยใหม่ และได้จัดต่อเนื่องมาทุกปี

  • พ.ศ. 2548

    พ.ศ. 2548 ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ คือ อาจารย์ภิรดี วัชรสินธุ์

  • พ.ศ. 2549

    พ.ศ. 2549 มหาวิทยาลัยได้มีนโยบายแจก Notebook ให้กับนักศึกษา เพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง มีการนำระบบโทรทัศน์วงจรปิดบนระบบเครือข่าย (CCTV) มาใช้ในการรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย และมีการติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สายเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยครอบคลุมทั้งมหาวิทยาลัยและศูนย์การศึกษา และมีการนำระบบโทรศัพท์มาใช้ในระบบเครือข่าย (IP-Phone) เพื่อช่วยลดค่าโทรศัพท์ระหว่างมหาวิทยาลัย กับศูนย์การศึกษา และนอกจากนี้สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศยังเป็นศูนย์ทดสอบประกาศนียบัตรวิชาชีพโปรแกรม Microsoft Office (MOS)

  • พ.ศ. 2550

    พ.ศ. 2550 ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ คือ ดร. พรรณี สวนเพลง

  • พ.ศ. 2551

    พ.ศ. 2551 สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศได้พัฒนาระบบ Suan Dusit Internet Broadcasting (SDIB) ซึ่งเป็นบริการการศึกษาผ่านระบบเครือข่ายของมหาวิทยาลัยทางเว็บไซต์ http://sdib.dusit.ac.th เพื่อเผยแพร่ความรู้และบริการต่าง ๆ ให้กับ บุคลากร นักศึกษาและบุคคลทั่วไป

  • พ.ศ. 2552

    พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้เข้าร่วมโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยใช้ชื่อโครงการเครือข่าย เผยแพร่ ถ่ายทอด และพัฒนาการใช้สื่อ eDLRU (Electronic Distance Learning Rajabhat University) สำหรับการศึกษาระดับปฐมวัย และระดับประถมศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตและเผยแพร่ผ่านระบบเครือข่ายของมหาวิทยาลัยทางเว็บไซต์ http://edlru.dusit.ac.th โดยสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสพระชนม์มายุครบ 55 พรรษา วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553 ภายใต้การให้ความสนับสนุน จากฝ่ายเลขานุการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ

  • พ.ศ. 2553

    พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยได้เริ่มพัฒนาระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ (e-Office) เพื่อใช้ในระบบงานสารบรรณของมหาวิทยาลัย เป็นการนำองค์กรเข้าสู่การบริหารงานแบบสำนักงานไร้กระดาษ (Paperless Office) ช่วยลดเวลาในการติดต่อสื่อสาร การรับ-ส่งเอกสาร และลดการใช้กระดาษ และนอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังได้จัดเตรียมเครื่องที่ให้บริการสารสนเทศทางการศึกษาอัตโนมัติ EASM (Kiosk) เพื่อบริการนักศึกษาในการตรวจสอบผลการเรียน ตารางเรียน พิมพ์ผลการเรียน และต่อมาได้พัฒนาเครื่องไว้ใช้สำหรับลงเวลาของบุคลากรและประชาสัมพันธ์ข่าวสารของมหาวิทยาลัย และสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศยังได้รับการแต่งตั้งจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ในสาขาที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ดำเนินงานเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร

  • พ.ศ. 2554

    พ.ศ. 2554 ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ คือ ผศ.ดร.จิตติมา เทียมบุญประเสริฐ

  • พ.ศ. 2555

    พ.ศ. 2555 สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศได้พัฒนาระบบสารสนเทศในรูปแบบ Cloud Computing เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน ในการบริหารข้อมูลส่วนกลางของมหาวิทยาลัย สนับสนุนการเรียนการสอน การค้นคว้าของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย

  • พ.ศ. 2556

    พ.ศ. 2556 สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ทำการสำรวจนักศึกษาส่วนใหญ่มากกว่า 50 % มี Tablet , Smart Phone หรือ Notebook แล้ว มหาวิทยาลัยจึงมีนโยบายเลิกแจก Notebook ให้กับนักศึกษา โดยสำนักได้พัฒนาสื่อการสอนต่างๆ เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น e-Book , e-Learning ฐานข้อมูลออนไลน์ ซึ่งสามารถสืบค้นผ่าน Tablet และ Smart Phone ได้ และยังได้พัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอพพลิเคชั่น iTunes U บนระบบปฏิบัติการ IOS เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้กับบุคลากร และนักศึกษาสามารถศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สำนักฯ ยังได้พัฒนาระบบแฟ้มสะสมผลงาน (e-Portfolio) เพื่อจัดเก็บประวัติและผลงานของบุคลากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

  • พ.ศ. 2558-2565

    นำ Smart Classroom มาใช้ในการเรียนการสอนและพัฒนาห้องเรียน Online Learning Room และ Virtual Instruction Room เพื่อรองรับการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด 19

  • กันยายน 2565-ปัจจุบัน

    กันยายน 2565-ปัจจุบัน ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทิพสุดา คิดเลิศ มีนโยบายในการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความกระชับ และยืดหยุ่นพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับการทำงานแบบ “จิ๋ว”แต่ “แจ๋ว” คำนึงถึงแนวทางการ Upskill Reskill และ Newskill ของนักศึกษาและบุคลากรเพื่อให้สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ผ่านการสร้างรูปแบบและการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลายทั้งในระบบการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น SDU Online Course และ SDU MOOC เป็นต้น รวมถึงสนับสนุนพื้นที่การเรียนรู้และพื้นที่สร้างสรรค์แบบเปิด (Open Space) และการปรับห้องเรียนในรูปแบบ Hybrid Learning ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลครอบคลุมแสดงให้เห็นถึงการบริการแบบเชิงรุก (Proactive Services)