ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555

รูปภาพ

การศึกษาชนิดและการใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืชโดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นในสวนป่ากลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

1.ชื่อโครงการ: โครงการสำรวจพรรณไม้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และจัดทำหนังสือพรรณไม้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

หน่วยงาน: คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาและสำรวจชนิดพันธุกรรมพืชในเขตสวนป่ากลางดง ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อศึกษาการใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืชโดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นในเขตสวนป่ากลางดง ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อจัดทำฐานข้อมูลการสำรวจชนิดและการใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืชในเขตสวนป่ากลางดง ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

วิธีการดำเนินการและกิจกรรม

การสร้างความเข้าใจกับชุมชนในเขตสวนป่ากลางดง ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสำรวจชนิดและการใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืช ซึ่งประกอบไปด้วยป่าตามธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและป่าปลูกทดแทนตามธรรมชาติ และก่อให้เกิดความมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การฝึกอบรมและให้ความรู้แก่นักศึกษาชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการฝึกอบรมเทคนิคในการสำรวจชนิดและการใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืช โดยนักวิชาการของสวนป่ากลาง การสำรวจชนิดและการใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืช ซึ่งประกอบไปด้วย ป่าตามธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและป่าปลูกทดแทนตามธรรมชาติ ของไม้ใหญ่ (Trees) กล้าไม้ (Saplings) และลูกไม้ (Seedling) ภายใต้ภูมิปัญญาท้องถิ่น จำนวน 50 แปลง โดยใน 1 แปลงใหญ่ ประกอบไปด้วย แปลงย่อย ขนาด 5.64, 12.62 และ 17.85 เมตร การเปรียบเทียบชนิดและการใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืช ของป่าตามธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและป่าปลูกทดแทนตามธรรมชาติ การจัดทำฐานข้อมูลการสำรวจพันธุกรรมพืชและความหลากหลายทางชีวภาพของสวนป่ากลางดง ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการสรุปผลและจัดทำรายงานการดำเนินงานให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ

ผลการดำเนินการ

การสำรวจชนิดพันธุ์ ลักษณะโครงสร้างเป็นสังคมพืชป่าเบญจพรรณ ประกอบด้วยพันธุไม้ 29 วงศ์ 70 ชนิด มีความหนาแน่นเฉลี่ย 11 ชนิด/ไร่ พื้นที่หน้าตัดลำต้นเฉลี่ย 12.73 ตารางเมตร/ไร่ พันธุ์ไม้เด่น 5 ชนิด คือ ประดู่ สัก มะกอกป่า ขี้มอด งิ้วป่า และตะขบป่า โดยมีความเด่นสัมพัทธ์ เท่ากับ 13.40 %, 12.56 %, 11.56 %, 5.15% และ 4.28 % ตามลำดับ มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ เท่ากับ 5.62 และมีปริมาณมวลชีวภาพของไม้พื้นล่าง 9.30 ตัน/เฮกแตร์

การใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืช

- ข้อมูลทั่วไปของประชากรในพื้นที่ศึกษา จากการสัมภาษณ์ประชาชนในหมู่บ้านที่อยู่ในขอบเขตพื้นที่ศึกษาทั้งในและรอบแนวเขตรัศมี 5 กิโลเมตร ครอบคลุม 3 ตำบล คือ พญาเย็น, กลางดง และหนองน้ำแดง 7 หมู่บ้าน คือ บ้านใหม่พัฒนา, บ้านหัวโกรก, บ้านหนองไม้แดง, บ้านซับตะเคียน, บ้านถ้ำเต่าพัฒนา, บ้านปางอโศก, บ้านหนองเครือคต และบ้านธารมงคล จำนวนครัวเรือน 1,560 ครัวเรือน จำนวนประชากร 2,513 คน (สวนป่ากลางดง, 2554) กำหนดประชากรและกลุ่มตัวอย่าง จากข้อมูลครัวเรือนโดยใช้สูตรของ Yamane (Yamane, 1973) ในการหาขนาดตัวอย่าง ซึ่งได้ขนาดตัวอย่าง 200 ครัวเรือน ทำการสำรวจโดยสัมภาษณ์ผู้แทนครัวเรือน ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 นำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติอย่างง่าย หาความถี่ ร้อยละค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่ออธิบายลักษณะทั่วไปของข้อมูลลักษณะพื้นฐานทางสังคมประชากรของราษฎรกลุ่มตัวแทนในขอบเขตพื้นที่ศึกษาจำนวน 7 หมู่บ้าน ผลการศึกษา พบว่า เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตสวนป่ากลางดง คิดเป็นร้อยละ 65.0 และรอบแนวเขตพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 35.0 ผู้ให้สัมภาษณ์ประกอบด้วยราษฎร เพศชาย ร้อยละ 46.0 และเพศหญิงร้อยละ 54.0 มีอายุเฉลี่ย 45 ปีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 55.0 สมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ย 4 คน ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ร้อยละ 70.0 ส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.0 ไม่ต้องการย้ายถิ่นฐาน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 69.2 รายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 20,000 – 50,000 บาท/ปี

- ข้อมูลการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ ลักษณะการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติราษฎร พบว่า ส่วนใหญ่ยังเก็บหาของป่าคิดเป็นร้อยละ 60.0 พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เข้าไปเก็บหาของป่าคือ พื้นที่สวนป่ากลางดง โดยมีระยะทางเฉลี่ยจากหมู่บ้านเข้าไปยังพื้นที่เก็บหาของป่า 1.00 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางเข้าไปเก็บหาเฉลี่ย 2.00 ชั่วโมง ช่วงเดือนที่เข้าไปเก็บหาของป่า เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม ร้อยละ 16.0 รองลงมาคือเดือนพฤษภาคม ร้อยละ 11.0 และสามารถเก็บหาของป่าได้ถึงเดือนธันวาคม ร้อยละ 17.0 รองลงมาคือเดือนตุลาคม ร้อยละ 15.0 รวมระยะเวลาที่สามารถเก็บหาของป่าได้เฉลี่ย 3 เดือน เดือนที่มีการเข้าไปเก็บหาของป่ามากที่สุดคือ เดือนตุลาคม ร้อยละ 15.0 รองลงมาคือเดือนพฤษภาคม ร้อยละ 10.0 เดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ร้อยละ 7.0 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เขาไปเก็บหาของป่าเฉลี่ยปีละ 3 ครั้ง

2.ชื่อโครงการ: โครงการสำรวจพรรณไม้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์สุพรรณบุรี

หน่วยงาน: สถาบันวิจัยและพัฒนา

วัตถุประสงค์

เพื่อสำรวจและรวบรวมข้อมูลพรรณไม้ในศูนย์สุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เพื่อเพิ่มข้อมูลพรรณไม้ในศูนย์สุพรรณบุรี ลงในฐานข้อมูลพรรณไม้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

วิธีการดำเนินการและกิจกรรม

สำรวจและรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพฤกษอนุกรมวิธานและการใช้ประโยชน์จากพรรณไม้ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาพรรณไม้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจและเก็บตัวอย่างพรรณไม้บริเวณศูนย์สุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต บันทึกตำแหน่งที่พบพรรณไม้ และถ่ายภาพตัวอย่าง เก็บข้อมูลในภาคสนาม โดยเลือกเก็บตัวอย่างพืชที่มีทั้งใบ ดอกหรือผลในกิ่งเดียวกันซึ่งมีความยาวประมาณ 1 ฟุต จำนวน 3 กิ่งตัวอย่างต่อพืช 1 ชนิด ศึกษาลักษณะทางด้านสัณฐานวิทยาของพรรณไม้ที่เก็บรวบรวมมาได้ในห้องปฏิบัติการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตอย่างละเอียด เพื่อทำการจัดจำแนกเบื้องต้นในระดับวงศ์ สกุลและชนิด (โดยใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยาภายนอกของพรรณไม้ ประกอบกับคู่มือการจัดจำแนกชนิดพรรณไม้ รวมทั้งตรวจหาชื่อพ้อง ชื่อพื้นเมือง พร้อมทั้งจัดทำคำบรรยายลักษณะทางพฤกษศาสตร์และลักษณะการใช้ประโยชน์ของพรรณไม้ที่พบ นำตัวอย่างพรรณไม้ที่จัดจำแนกแล้วไปเปรียบเทียบตัวอย่างกับตัวอย่างพรรณไม้ที่เก็บรักษาไว้พิพิธภัณฑ์พืชต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์พืชศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพฯ อาคารสิรินธร กรมวิชาการเกษตร, หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช เป็นต้น พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของชื่อพรรณไม้โดยยึดตามหนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เพิ่มข้อมูลพรรณไม้ในศูนย์สุพรรณบุรี ลงในฐานข้อมูลพรรณไม้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

ผลการดำเนินการ

3.ชื่อโครงการ: การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชแก่นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

หน่วยงาน: คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วัตถุประสงค์

เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชแก่นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชแก่นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมงานพฤกษศาสตร์โรงเรียน

วิธีการดำเนินการและกิจกรรม

ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดวนกร ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เพื่อจัดทำกิจกรรม จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชแก่นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมงานพฤกษศาสตร์ในโรงเรียนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แก่นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำรวจพันธุ์พืชท้องถิ่นในเขตอุทยานแห่งชาติหาดวนกรและบริเวณที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี สรุปและรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการฯ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4. ชื่อโครงการ: โครงการปลุกกระแสอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

หน่วยงาน: คณะพยาบาลศาสตร์

วัตถุประสงค์

เพื่อเป็นปฐมบทในการสร้างจิตสำนึกของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เพื่อสืบสานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

วิธีการดำเนินการแลวิธีการดำเนินการและกิจกรรมะกิจกรรม

จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ และอบรมเชิงปฏิบัติการออกแบบ “สวนสวยแนวตั้ง” ศึกษาดูงาน ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติเกาะและทะเลไทย นิทรรศการ “สวนสวยแนวตั้ง” และพิธีอาเศียรวาทราชสดุดีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

ผลการดำเนินการ

เป็นโครงการใหม่ โดยดำเนินการรูปแบบโครงการ/กิจกรรม ซึ่งสรุปผลข้อมูลที่ได้จากโครงการดังนี้ กิจกรรมโครงการเน้นการมีส่วนร่วมของนักศึกษาพยาบาลทุกชั้นปี และ เน้นการใช้ประโยชน์จากพืชเพื่อการดูแลสุขภาพซึ่งสอดคล้องกับบริบทของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งยังเป็นการสอดคล้องกับแนวทางการรักษาสุขภาพทางเลือกด้วย ความรู้ความเข้าใจ ประสบการณ์ที่นักศึกษาได้รับเป็นความรู้ที่นักศึกษาสามารถนำไปเชื่อมโยงกับการเรียนวิชาเภสัชวิทยาและวิชาการสร้างเสริมสุขภาพ รวมทั้งเป็นการปลูกฝังความรักหวงแหนธรรมชาติและถิ่นกำเนิดด้วยจึงถือว่ามีประโยชน์คุ้มค่าดังจะเห็นได้จากตัวอย่างการสะท้อนคิดของนักศึกษาที่นำมาเสนอดังต่อไปนี้

5. ชื่อโครงการ: การจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมและวิถีเกษตรกรรมพื้นบ้านของเกษตรสวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี

หน่วยงาน: บัณฑิตวิทยาลัย

วัตถุประสงค์

เพื่อสำรวจข้อมูลสายพันธุ์ทุเรียน เกษตรกรผู้ปลูก และองค์ความรู้เกษตรกรรมพื้นบ้านในการปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว การจำหน่ายผลผลิต การปรับปรุงและอนุรักษ์สายพันธุ์ รวมทั้งกลวิธีพื้นบ้านในการเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์แก่ผลผลิต เพื่อจัดเก็บข้อมูลและองค์ความรู้ที่เก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบในรูปฐานข้อมูล เพื่อเสนอแนะแนวทางในการจัดกิจกรรมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือถ่ายทอดความรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย

ผลการดำเนินการ

ในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2555 ผู้รับผิดชอบโครงการ สามารถดำเนินงานตามขั้นตอนที่กำหนดในแผนการดำเนินงาน ในการทำงานภาคสนาม จะเริ่มจาก 1) การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ปลูก เกษตรกรผู้ปลูก และการส่งเสริมสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากสำนักงานการเกษตรจังหวัด / อำเภอในจังหวัดนนทบุรี 2) การตรวจสอบการศึกษาวิจัยที่มีมาก่อนหน้าเพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนระหว่างองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้ว กับองค์ความรู้ใหม่ที่จะได้จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ โดยพบว่า การศึกษาวิจัยที่มีก่อนหน้าจะมีจุดเน้นที่การเก็บข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูก ข้อมูลสายพันธุ์ทุเรียน และการอนุรักษ์สายพันธุ์โดยการนำสายพันธุ์ทุเรียนดั้งเดิมไปเก็บรักษานอกพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ในขณะที่งานวิจัยครั้งนี้ มีจุดเน้นที่การจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกษตรกรใช้ในการปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว การจำหน่ายผลผลิต การปรับปรุงและอนุรักษ์สายพันธุ์ รวมทั้งกลวิธีพื้นบ้านในการเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์แก่ผลผลิต 3) การสำรวจสวนทุเรียนในพื้นที่ที่เป็นแหล่งปลูกทุเรียนของจังหวัดนนทบุรี การสังเกตการณ์วิธีปลูกแบบพื้นบ้าน และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ทั้งการสัมภาษณ์กลุ่มและสัมภาษณ์เป็นรายบุคคล การกำหนดตัวผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จะมีทั้งเกษตรกรที่อยู่ในฐานข้อมูลของทางจังหวัด และเกษตรกรที่มิได้อยู่ในฐานข้อมูลของทางจังหวัด

จากการทำงานภาคสนาม พบว่า เหตุการณ์มหาอุทกภัยปลายปี พ.ศ. 2554 ส่งผลให้สวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรีล่มเกือบทั้งหมด โดยในระยะแรก มีเกษตรกรจำนวนมากถอดใจกับการทำสวนทุเรียนเพราะต้องดูแลมากและต้องใช้เวลา 5-7 ปี กว่าจะเก็บผลผลิตได้ ในขณะที่ทุเรียนเป็นพืชที่ไม่ทนน้ำ หากน้ำท่วมเกิน 1 สัปดาห์จะรากเน่าตาย ขณะเดียวกัน ราคาที่ดินในจังหวัดนนทบุรีสูงมากและมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยพบว่า หลังเหตุการณ์สวนทุเรียนล่ม มีนายทุนจำนวนมากเสนอซื้อที่ดิน และเกษตรกรกว่าร้อยละ 70 ที่ตั้งใจจะขายที่ดิน รอเพียงการต่อรองให้ได้ราคาที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือของทางจังหวัด การดำเนินงานของหน่วยงาน / ชมรม / สถาบันการศึกษา ฯลฯ ซึ่งจำนวนมาก เป็นกิจกรรมในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ ที่มีมาแล้วในระยะก่อนหน้า รวมทั้งการเห็นความตั้งใจของเพื่อนเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่ยังคงจะทำสวนทุเรียนต่อโดยเหตุผลส่วนใหญ่ คือ ต้องการ รักษาทุเรียนนนท์ให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนนทบุรีต่อไป ทำให้เกษตรกรที่ถอดใจ เริ่มลงมือปลูกทุเรียนใหม่อีกครั้ง โดยในระยะที่เก็บข้อมูล สวนที่เข้าไปสำรวจเป็นทุเรียนปลูกใหม่ทั้งสิ้น

ในการทำสวนทุเรียน พบว่า ปัจจัยสำคัญในการผลิตทุเรียนนนท์ คือ ลักษณะเฉพาะตัวของ ดิน น้ำ และอากาศ ในจังหวัดนนทบุรี มิได้เกี่ยวกับต้นพันธุ์ทุเรียนแต่อย่างใด โดยเกษตรกรทั้งหมดยืนยันว่า ไม่ว่าจะนำกิ่งตอนทุเรียนมาจากจังหวัดใดก็ตาม เมื่อมาปลูกในจังหวัดนนท์ และได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมแล้ว จะสามารถให้ผลผลิตที่มีคุณลักษณะของทุเรียนนนท์ได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องลงทุนซื้อกิ่งตอนมาปลูกแล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่จะเลือกสายพันธุ์ที่ติดตลาดและมีราคา เช่น หมอนทอง ก้านยาว ชะนี มากกว่าสายพันธุ์พื้นบ้านที่ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่มีราคา ด้วยเหตุนี้ เมื่อใดที่สวนล่ม สายพันธุ์ทุเรียนดั้งเดิมจะตายไปและมีโอกาสน้อยที่เกษตรกรจะซื้อหาสายพันธุ์ดั้งเดิมเหล่านี้มาปลูกในการลงทุเรียนรอบใหม่ สำหรับวิธีการปลูกและดูแลต้นทุเรียนนั้น พบว่า มีทั้งวิธีพื้นบ้านและการผสมผสานวิธีพื้นบ้านกับเทคนิควิธีสมัยใหม่ เช่น การทำสวนทุเรียนในลักษณะสวนผสม มีพืชหลายชนิดปลูกร่วมด้วยเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ กัน เช่น รอบสวนต้องปลูกไม้ใหญ่และไม้ผลชนิดอื่น เช่น มังคุด ละมุด มะม่วง หมาก ส้ม เพื่อบังลมบังแสง และเก็บผลขายให้มีรายได้ระหว่างรอทุเรียนติดผลซึ่งกินเวลา 5-7 ปีแล้วแต่สายพันธุ์ ระหว่างร่องสวนต้องปลูกต้นทองหลางเพื่อให้ใบร่วงลงในร่องสวนเป็นปุ๋ย เมื่อเริ่มลงทุเรียนใหม่ ๆ จะปลูกต้นกล้วยแซมเพื่อเป็นร่มเงาและรักษาความชื้นในดิน การวางตำแหน่งปลูกตามสายพันธุ์ โดยนำสายพันธุ์มีราคาไว้ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยสายพันธุ์พื้นเมือง เพื่อลดความเสียหายจากกะรอกเจาะ เทคนิควิธีการปลูกแบบพื้นบ้าน เช่น “ยกโคก” “รากลอย” “บังไพร” “รางโคน” “เสริมราก” เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาลักษณะทั่วไปของเกษตรกรสวนทุเรียนนนท์ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคนขึ้นไป เป็นเจ้าของสวนที่มีที่ดินของตนเอง ขนาดที่ดินไม่ใหญ่นักอยู่ในวิสัยที่จะปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยวได้ด้วยตนเอง เพราะการจ้างแรงงานในปัจจุบันค่าใช้จ่ายสูงและหาแรงงานรับจ้างค่อนข้างยาก ในขณะที่ลูกหลานส่วนใหญ่จะเรียนหรือประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม สิ่งที่น่าวิตกก็คือ เมื่อหมดเกษตรกรรุ่นนี้แล้ว อาจไม่มีผู้สืบทอดและมีแนวโน้มว่าที่ดินสวนทุเรียนอาจถูกขายหรือเปลี่ยนไปทำประโยชน์อย่างอื่นที่มีผลตอบแทนสูงและรวดเร็วกว่า อย่างไรก็ตาม แม้เกษตรกรวัยหนุ่มสาวจะมีน้อย แต่พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีความรู้ความคิดที่ก้าวหน้าเนื่องจากมีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารและการฝึกอบรมพัฒนาจากภาครัฐค่อนข้างมาก ซึ่งหากมีวิธีการเสริมแรงและสร้างสำนึกรักสิ่งที่เป็นมรดกของท้องถิ่น เกษตรกรกลุ่มนี้ จะเป็นความหวังในการอนุรักษ์ทุเรียนนนท์ให้คงอยู่ต่อไป

สำหรับแนวทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้/ถ่ายทอดความรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นข้อเสนอแนะจากการวิจัยครั้งนี้ จะได้แก่ การส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่ม/ชมรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเป็นระบบตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาด การสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่ม/ชมรมกับภาคส่วนอื่นอย่างหลากหลาย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานทางวิชาการ หน่วยงานด้านสื่อสารมวลชนเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อข้อมูลความรู้และการทำงานแบบบูรณาการ การผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์และภูมิปัญญาพื้นบ้านในการทำสวนทุเรียน รวมทั้งการสร้างสำนึกรักสิ่งที่เป็นมรดกของท้องถิ่นแก่กลุ่มเป้าหมาย ที่ประกอบด้วย เกษตรกรรุ่นหนุ่มสาว เยาวชนในท้องถิ่น ประชาชนทั่วไป การหากลวิธีเพื่อสร้างอุปสงค์ในการบริโภคทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมือง เพื่อกระตุ้นการปลูกทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์

อนึ่ง เนื่องจากในเดือนกันยายน 2555 เป็นช่วงสิ้นปีงบประมาณ ในขณะที่การดำเนินงานตามแผนยังไม่แล้วเสร็จครบทุกกิจกรรม จึงมีการปรับแผนโดยเปลี่ยนกิจกรรมการจัดกลุ่มสนทนา เป็นการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญเพื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการจัดกิจกรรมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือถ่ายทอดความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายเป็นรายบุคคลทางโทรศัพท์แทน ขณะนี้ ได้รวบรวมข้อมูลสำคัญครบถ้วนแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำฐานข้อมูลและเขียนรายงานการวิจัยโดยคาดว่าจะส่งมอบรายงานการวิจัยและฐานข้อมูลภายในเดือนธันวาคม 2555